วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เผ่าไทแสก ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม




ประวัติความเป็นมาของชาวไทแสก

แสก หมายความว่า แจ้ง , สว่าง เป็นชนชาติหนึ่งในตระกูลมอญ - เขมร ชาวไทแสกเป็นชนกลุ่มน้อยตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในท้องที่จังหวัดนครพนมและจังหวัดมุกดาหาร ชาวไทแสกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นชาติพันธุ์เดิมมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในตอนกลางของสาธารณะรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อาศัยอยู่ในแถบเมืองรอง เมืองเว้ ต่อมาชาวเวียดนาม พยายามเข้าครอบครองและรุกรานชาวไทแสกตลอดมา จนทำให้ชาวไทแสก ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม มีชาวไทแสกบางกลุ่มไม่พอใจอยู่ภายใต้การปกครองของ เวียดนาม ได้อพยพมาทางตอนใต้ มาทางตอนกลางของประเทศ มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ใกล้เมืองท่าแขก (อยู่ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม ประเทศไทย) มาอยู่ที่บ้านหม้อเตลิง บ้านทอก ท่าแค บ้านโพธิ์ค้ำ

              สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2516 : 343) ได้กล่าวไว้ในนิทานโบราณคดีเกี่ยวกับประวัติของชาวไทแสกว่า ถิ่นเดิมของชาวไทแสกอยู่ทางฝั่งซ้ายใกล้เชิงเขาบรรพตติดต่อดินแดนเวียดนาม และเติม วิภาคย์พจนกิจ ชาวไทแสกว่า พลเมืองคำเกิด คำม่วน สองเมืองนี้มีหลายจำพวกปะปนกันคือ พวกลาวพวนบ้าง ผู้ไทบ้าง นอกจากนั้นก็ยังมีพวกโซ่ แสก ญ้อและญวน พวกกะโซ่และพวกญ้อพูดภาษาลาวได้ดี คงเป็นพวกผู้ไทหรือคนไทสาขาหนึ่ง ซึ่งถูกเรียกชื่อแปลกไป คือ สำเนียงแปร่งไป ส่วนพวกแสกนั้น ไม่ใช่ลาวหรือไทย คือเข้ามาแทรกอยู่แทนที่จะเรียกพวกแสกเลยกลายเป็นแสกไป (เติม วิภาคย์พจนกิจ 2515 : 257)
               สุรจิตต์ จันทรสาขา (2520) ได้รวบรวมประวัติจังหวัดนครพนม ในอดีตได้กล่าวถึงชาวไทแสกมีความว่า ไทแสกเป็นชาวไทยเผ่าหนึ่งที่ได้อพยพโยกย้ายมาพร้อมกับชาวไทยน้อยเผ่าอื่น ๆ ถิ่นดั่งเดิมอยู่บริเวณมนฑลยูนาน (หนองแสตาลีฟู) เมื่อถูกรุกรานไดอพยพโยกย้ายลงมาพร้อมกับชาวไทยเผ่าอื่นๆ (ผู้ไทย ข่า กะโซ่ ญ้อ โย้น ไทญวน กะเลิง) มาตั้งบ้านเรือนในตอนแรก ๆ อยู่บ้านเมืองแสก (ฮาวิรอง) อยู่ระหว่างจีนและเวียดนาม (อยู่ห่างจากชายแดนเวียดนามประมาร 20 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นเมืองร้าง) เมื่อเห็นว่าภูมิลำเนาเดิมไม่เหมาะสมจึงอพยพลงมาตามลำน้ำโขง นำโดยท้าวโองมู้ชูกายชา ชาวไทแสกบางกลุ่มเมื่อตั้งถิ่นฐานได้แล้ว ก็ตั้งชื่อหมู่บ้านตนว่า “บ้านท่าแค” (ปัจจุบันก็คือ ชาวไทแสกที่อยู่บ้านโพธิ์ค้ำ แขวงคำม่วน เมืองท่าแขก สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทางภาคอีสาน) ส่วนชาวไทแสก อีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาอยู่ทางฝั่งขวา (ปัจจุบันคือประเทศไทย) โดยอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ฝั่งขวาดังเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้กล่าวอ้างไว้ ดังนี้

              ใน พ.ศ. 2377 พระยามหาอำมาตย์ (ป้อ มาตยกุล) เป็นแม่ทัพได้ยกกำลังขึ้นมาตั้งอยู่ที่เมืองนครพนอีกครั้งหนึ่ง และได้เกณฑ์กองทัพเมืองเขมราฐ เมืองยโสธร เมืองร้อยเอ็ด และเมืองสวรรณภูมิ มาเพื่อคอยระแวดระวังป้องกันกองทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ ต่อมาได้ยกทัพข้ามโขงไปกวาดต้อนผู้คนชาวไทย

               ทางฝั่งแม่น้ำโขง (ดินแดนลาวปัจจุบัน) ในแถบเมืองวัง เมืองพิน เมืองเซโปน เมืองนอง เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองแสก เมืองเชียงฮ่ม เมืองผาบัง เมืองคำอ้อคำเขียว ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ภูไท ข่า กระโซ่ กระเลิง แสก ญ้อ โย้ย เพื่อให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ภาคอีสาน) โดยให้มาตั้งถิ่นบานเป็นเมืองต่าง ๆ ในเขตเมืองนครพนม เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร เมืองกาฬสินธุ์

              ในสมัยพระสุนทร ราชวงษา (ฝ้าย) เจ้าเมืองยโสธร ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครพนมอยู่ด้วย ถึง 22 ปี ได้มีการปรับตั้งเมืองนครพนม มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับชาวไทแสก ดังนี้

             ให้ชาวไทแสกที่อพยพจากเมืองแสก อพยพมาตั้งอยู่ที่บ้านโคกยาว (ปัจจุบันคือบ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม) สมัยก่อนมีอาณาเขตอยู่ใกล้เคียงกับบ้านนาลาดควาย (ปัจจุบันบ้านนาราชควาย) จำนวนชาวไทแสกที่ย้ายมาในขณะนั้นมีจำนวน 1,170 คน ต่อมาชาวไทแสกได้ย้ายถิ่นฐานจากบ้านโคกยาวมาอยู่ที่บ้าน “ป่าหายโศก” (ปัจจุบันคือบ้านอาจสามารถ) พระสุนทร ราชวงษา (ฝ้าย) ได้พิจารณาเห็นง่า ชาวไทแสก มีความสามารถ มีความสามัคคี มีความเข้มแข็ง สามารถปกครองตนเองได้ จึงยกฐานะชาวไทแสกที่อยู่ที่ “ป่าหายโศก” ให้เป็นกองอาทมาตคอยลาดตระเวนชายแดน

              พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งชาวไทแสก ให้เป็นเมืองที่ชื่ว่า “อาทมาต” โดยขึ้นกับเมืองนครพนม ให้ฆานบุดดี เป็น “หลวงเอกอาษา” ทำหน้าที่เป็นเจ้าเมืองอาทมาต ตั้งแต่ พ.ศ. 2387 หลักฐานจากเอกสารจดหมายเหตุ รัชกาลที่3 จ.ศ. 1191 เลขที่ 3 หอสมุดแห่งชาติ จนถึง พ.ศ. 2450 และเมือง “อาทมาต” ได้เปลี่ยนเป็น “เมืองอาษามารถ” ตามลำดับ

              ต่อมาในการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค ให้เหมือนกันหมดทั่วราชอาณาจักรและให้ยกเลิกการปกครองแบบโบราณ ของเมืองต่าง ๆ ในภาคอีสาน ซึ่งเคยปกครองแบบมีเจ้าเมือง อุปฮาต ราชวงษ์ และราชบุตรทั้งหมดให้เปลี่ยนตำแหน่งผู้ว่าราชการ เมือง ปลัดเมือง ยกบัตรเมือง ให้เหมือนกันทั่วราชอาณาจักร โดยเมืองนครพนมมีพยาพนมนครนุรักษ์ฯ เป็นผู้ว่าราชการเมือง แบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเรณูนคร อำเภออาจสามารถ อำเภออากาศอำนวย อำเภอกุสุมาลย์ มณฑลอำเภอโพธิไพศาล ปัจจุบันสามอำเภอหลัวโอนไปขึ้นกับจังหวัดสกลนคร และอำเภออาษามารถ ยุบเป็นตำบลอาสามารถขึ้นกับอำเภอเมืองนครพนม จนถึงปัจจุบัน
           ประวัติรายชื่อข้าราชการผู้เป็นหัวหน้าแผนการบริหารบ้านเมืองของเมืองอาทมาต มีดังนี้ 
1. หลวงเอกอาษาเป็ประธานคือเจ้าเมือง
2. เมืองขวา รองประธานคนที่ 1 คือ ปลัดขวา
3. เมืองซ้าย รองประธานคนที่ 2 คือ ปลัดซ้าย
4. เมืองถลาง คือเลขานุการ และประขาสัมพันธ์
5. ขุนชนานุรักษ์ หัวหน้าแผนการรักษาประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ
6. ขุนพิทักษ์ประชาชน แผนกการศึกษาวิชาการความรู้
7. ขุนผจญปัจจามิตร แผนกพัฒนาบ้านเมืองและติดต่อกับต่างประเทศ
8. ขุนพิชิตสงคราม แผนกป้องกันประเทศชาติบ้านเมือง ฝ่ายทหาร
9. ขุนบุตดีปฐม แผนกปฐมพยาบาล ฝ่ายหมอ
10. ขุนบรมหายโศก แผนกพิพากษาว่าความ
11. ขุนเทพารักษ์ แผนกฝ่ายการเงิน การคลัง
12. ขุนพิทักษ์ดินแดน แผนกรักษาความสงบภายใน ตำรวจ

             ปัจจุบันชาวไทแสกส่วนมากจะอยู่ที่หมู่บ้านอาจสามารถ ตำบลอาสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนมอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดนครพนม 4 กิโลเมตร และยังมีชนไทแสกบางกลุ่ม ที่ได้พากันอพยพ โยกย้ายที่อยู่ไปทำมาหากินถิ่นต่างๆ ในจังหวัดนครพนม และรวมทั้งสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
        
           มีชนชาวไทแสกตามถิ่นต่าง ดังนี้ 
1. บ้านอาจสามารถ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
2. บ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามรถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
3. บ้านบะหว้า ตำบลบะหว้า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
4. บ้านดอนเสมอ ตำบลอาจสามารถ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
5. บ้านโพธิ์ค้ำ แขวงคำม่วน เมืองท่าแขก ประเทศลาว

               จากคำบอกเล่าของชาวไทแสก ทราบว่า ปัจจุบัน ยังมีชาวไทแสกอยู่ แคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน และที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยชาวไทแสกทุกหมู่บ้านทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศไทย หรืออยู่ที่ประเทศลาวสามารถพูดภาษาแสกสื่อสารพูดคุยกันได้ โดยใช้ภาษาแสกในการพูดจาสื่อสาร